Rosenberg, Alfred (1893-1946)

นายอัลเฟรด โรเซนแบร์ก (พ.ศ. ๒๔๓๖-๒๔๘๙)

 อัลเฟรด โรเซนแบร์กเป็นแกนนำทางอุดมการณ์ของพรรคแรงงานสังคมนิยมแห่งชาติเยอรมันหรือพรรคนาซี (National Socialist German Workers’ Party; Nazi Party)* และเป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ของพรรคนาซีตั้งแต่ ค.ศ. ๑๙๒๑ หลังความล้มเหลวของกบฏที่โรงเบียร์ (Beer Hall Putsch)* ค.ศ. ๑๙๒๓ โรเซนแบร์กทำหน้าที่รักษาการหัวหน้าพรรคแทนอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ (Adolf Hitler)* ที่ถูกจับคุมขังและดูแลสมาชิกรวมทั้งกิจการของพรรคนาซีที่ถูกยุบเลิก โรเซนแบร์กมีแนวความคิดต่อต้านยิวและคอมมิวนิสต์อย่างรุนแรงและมีบทบาทสำคัญในการเผยแพร่แนวความคิดชาตินิยมว่าด้วยความเหนือกว่าและความบริสุทธิ์ของเชื้อชาติอารยัน (Aryan) โดยเฉพาะชาวเยอรมันที่สืบสายมาจากชนชาติอารยัน เขาสนับสนุนนโยบายการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ (Holocaust)* ของฮิตเลอร์ ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ (Second World War)* เมื่อเยอรมนีพ่ายแพ้สงคราม โรเซนแบร์กถูกจับและในการพิจารณาคดีนูเรมเบิร์ก (Nuremberg Trials)* เขาถูกตัดสินว่ามีความผิดตามข้อกล่าวหาเป็นอาชญากรสงครามและก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติและสันติภาพ ทั้งคบคิดวางแผนก่ออาชญากรรมตามที่ศาลอื่นๆ ได้ตัดสินแล้ว

 โรเซนแบร์กเกิดในครอบครัวนักธุรกิจเชื้อสายเยอรมันเมื่อวันที่ ๑๒ มกราคม ค.ศ. ๑๘๙๓ ที่เมืองเรวัล (Reval) ปัจจุบันคือกรุงทาลลินน์ (Tallinn) เมืองหลวงของประเทศเอสโตเนีย บิดาเป็นพ่อค้าที่มั่งคั่งชาวลัตเวียและมารดาเป็นชาวเอสโตเนีย เขาเรียนสถาปัตยกรรมที่สถาบันโปลิ เทคนิครีกา (Riga Polytechnical Institute) และวิศวกรรมที่โรงเรียนเทคนิคระดับสูงสุดแห่งกรุงมอสโก (Moscow Highest Technical School) เมื่อเกิดการปฏิวัติเดือนตุลาคม (October Revolution)* ค.ศ. ๑๙๑๗ ในรัสเซีย โรเซนแบร์กสนับสนุนฝ่ายต่อต้านการปฏิวัติของพรรคบอลเชวิค (Bolsheviks)* และมีบทบาทสำคัญในกลุ่มรัสเซียขาว เมื่อรัสเซียเข้าสู่สงครามกลางเมืองรัสเซีย (Russian Civil War ค.ศ. ๑๙๑๘ ๑๙๒๑)* และฝ่ายรัสเซียขาว เริ่มเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ โรเซนแบร์กจึงลี้ภัยไปกรุงปารีสและเมืองมิวนิกตามลำดับ เขาเดินทางไปเยอรมนี ใน ค.ศ. ๑๙๑๘ โรเซนแบร์กสมรส ๒ ครั้งด้วยกัน ครั้งแรก ใน ค.ศ. ๑๙๑๕ กับฮิลดา เลสมันน์ (Hilda Leesmann) ซึ่งเป็นชาวเอสโตเนียแต่หย่าขาดกันใน ค.ศ. ๑๙๒๓ ครั้งที่ ๒ ใน ค.ศ. ๑๙๒๕ กับเฮดวิก คราเมอร์ (Hedwig Kramer) และมีบุตรด้วยกัน ๒ คน บุตรชายคนโตเสียชีวิตตั้งแต่เยาว์วัยและคนที่ ๒ เป็นบุตรสาวชื่อไอรีน (Irene)

 ในต้น ค.ศ. ๑๙๑๙ โรเซนแบร์กเข้าเป็นสมาชิกของพรรคแรงงานเยอรมัน (German Workers’ Party)* ซึ่งต่อมาในกลาง ค.ศ. ๑๙๒๐ เปลี่ยนชื่อเป็นพรรคแรงงานสังคมนิยมแห่งชาติเยอรมันหรือที่รู้จักกันทั่วไปว่าพรรคนาซีเขาจึงเป็นสมาชิกรุ่นแรก ๆ ของพรรคและใน ค.ศ. ๑๙๒๑ ได้รับมอบหมายให้เป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ Volkischer Beobachter ของพรรคนาซี เขาสร้างความประทับใจให้แก่ฮิตเลอร์ด้วยการแสดงภูมิความรู้เกี่ยวกับศัตรูร้ายที่แอบแฝงคอยบ่อนทำลายเชื้อชาติอารยัน โดยชี้นำว่ายิวและคอมมิวนิสต์เป็นภัยต่อนโยบายของพรรคนาซีและความบริสุทธิ์ของเชื้อชาติเยอรมัน พวกสมาคมลับฟรีเมสัน (Freemason) และฝ่ายสัมพันธมิตรมีส่วนรับผิดชอบต่อการเกิดสงครามโลกครั้งที่ ๑ (First World War)* และคบคิดร่วมมือกับพวกยิวต่างชาติในการควบคุมการปฏิวัติรัสเซีย (Russian Revolution)* แนวความคิดของโรเซนแบร์กได้รับอิทธิพลมาจากหนังสือ The Foundations of the Nineteenth Century ของฮิวสตัน สจวร์ต เชมเบอร์เลน (Houston Stewart Chamberlain) นักเหยียดผิวชาวอังกฤษ

 เมื่อฮิตเลอร์ก่อกบฏที่โรงเบียร์ในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๒๓ เพื่อยึดอำนาจจากรัฐบาลกรุงเบอร์ลินแต่ไม่สำเร็จพรรคนาซีถูกยุบและฮิตเลอร์ถูกศาลสั่งปรับ ๒๐๐ มาร์คทองคำและจำคุก ๕ ปี ฮิตเลอร์จึงแต่งตั้งโรเซนแบร์กรักษาการหัวหน้าพรรค ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๒๔-๑๙๒๕ สมาชิกพรรคนาซีแตกแยกภายในเป็นหลายฝ่ายด้วยกัน แกนนำพรรคจำนวนหนึ่งไม่ยอมรับสถานภาพความเป็นผู้นำของโรเซนแบร์กเพราะเห็นว่าเขาเป็นคนยโสและเป็นคนนอก (outsider) ที่มีเชื้อสายและภูมิหลังมาจากประเทศแถบบอลติก โรเซนแบร์ก จึงได้ร่วมมือกับสมาชิกพรรคกลุ่มปีกขวาจัดตั้งพรรคการเมืองชื่อ ประชาคมของพลเมืองเยอรมันใหญ่ (Greater German People’s Community) ขึ้นเพื่อดำเนินการเคลื่อนไหวทางการเมืองในนามของพรรคนาซีแต่ไม่ประสบความสำเร็จเท่าใดนัก ส่วนสมาชิกกลุ่มปีกซ้ายซึ่งมีเกรกอร์ ชตราสเซอร์ (Gregor Strasser)* เป็นผู้นำก็แยกตัวมาจัดตั้งพรรคสังคมนิยมเสรีแห่งชาติ (National Socialist Freedom Party) ขึ้นในเยอรมนีตอนเหนือโดยมีแอนสท์ เริม (Ernst Rohm)* อดีตหัวหน้าหน่วยเอสเอ (SA)* ให้การสนับสนุน

 เมื่อฮิตเลอร์พ้นโทษก่อนกำหนดในปลาย ค.ศ. ๑๙๒๔ เขาจัดตั้งพรรคนาซีขึ้นใหม่ในต้น ค.ศ. ๑๙๒๕ โดยให้สัญญากับผู้ปกครองรัฐบาลบาวาเรียว่า พรรคนาซีใหม่จะเคารพและยึดมั่นในกฎหมายและรัฐธรรมนูญทั้งจะไม่ใช้กำลังยึดอำนาจทางการเมือง ฮิตเลอร์มอบหมายให้โรเซนแบร์กจัดทำแผนผังแสดงชาติพันธุ์ของมนุษย์ แผนผังนี้มีแนวความคิดพื้นฐานว่าด้วยชาตินิยมรุนแรง ความเป็นเลิศของชนเชื้อสายอารยันและการต่อต้านยิว ลำตับล่างสุดของชาติพันธุ์ตามแผนผังนี้เป็นชนผิวดำและชาวยิว ส่วนลำดับสูงสุดเป็นชนผิวขาวเชื้อสายอารยันซึ่งหมายถึงชาวเยอรมันและรวมถึงชาวสแกนดิเนเวีย ฟินน์ ดัตช์ เบลเยียม อังกฤษ และคนในแถบฝั่งทะเลบอลติกด้วย แผนผังดังกล่าวสะท้อนความคิดรวบยอดทั้งของโรเซนแบร์กและฮิตเลอร์ว่าชนชาติอารยันโดยเฉพาะเยอรมันเป็นเผ่าพันธุ์ที่สูงส่งและแข็งแกร่งที่สุดในโลก จึงมีหน้าที่และสิทธิอันชอบธรรมในการปกครอง กดขี่ข่มเหงและกำจัดชาติพันธุ์ที่ด้อยกว่าเพื่อปกป้องความบริสุทธิ์ของเผ่าพันธุ์ตน

 ใน ค.ศ. ๑๙๒๙ โรเซนแบร์กก่อตั้งสันนิบาตต่อสู้เพื่อปกป้องวัฒนธรรมเยอรมัน (Militant League for German Culture) และต่อมาก็ก่อตั้งสถาบันเพื่อศึกษาเรื่องของยิวโดยเฉพาะเพื่อใช้ในการต่อต้านและทำลายอิทธิพลของยิวที่มีต่อวัฒนธรรมเยอรมัน เขายังเสนอความคิดให้ปฏิรูปศาสนาโดยเน้นการชื้นำและสอนให้ผู้คนรักและภาคภูมิใจในเชื้อชาติเยอรมันและสนับสนุนการเคลื่อนไหวของกลุ่มต่อต้านศาสนาที่เรียกว่าพวกนอกรีตใหม่ (neo-pagan) แกนนำนาซีหลายคน เช่น มาร์ติน บอร์มันน์ (Martin Bormann)* เลขานุการส่วนตัวของฮิตเลอร์ก็เห็นด้วยกับเขาส่วนฮิตเลอร์ในระยะแรกเห็นด้วยกับแนวความคิดของโรเซนแบร์กแต่ต่อมาเปลี่ยนความคิดเพราะต้องการมีบทบาทเป็นผู้พิทักษ์คริสต์ศาสนาจากภัยคอมมิวนิสต์และหวังจะได้รับการสนับสนุนจากศาสนจักร ฮิตเลอร์จึงให้สัญญาว่าพรรคนาซีจะไม่สร้างปัญหาความแตกแยกทางศาสนาในสังคมเยอรมัน

 ใน ค.ศ. ๑๙๓๐ โรเซนแบร์กได้รับเลือกตั้งเข้าสู่สภาไรค์ชตาก (Reichstag) และได้เป็นผู้ช่วยรองประธานสภาไรค์ชตาก ในปีเดียวกันนี้ เขาตีพิมพ์งานเขียนเล่มสำคัญของเขาคือ The Myth of the Twentieth Century ประเด็นสำคัญของหนังสือเล่มนี้บอกเล่าตำนานและที่มาของชนชาติอารยันที่มีสายเลือดบริสุทธิ์และเป็นเรื่องอุดมการณ์แห่งชาติโดยเฉพาะการต่อต้านยิว หนังสือเล่มนี้เป็นเสมือนคัมภีร์เล่มที่ ๒ ของพรรคนาซีรองจากหนังสือไมน์คัมพฟ์ (Mein Kampf)* ของฮิตเลอร์ แม้ว่าหนังสือจะได้รับการยอมรับในหมู่สมาชิกนาซีว่าเป็นหนังสือที่ดีแต่ก็ไม่ได้รับความนิยมเท้าใดนักเพราะอำนเข้าใจยาก อย่างไรก็ตามหนังสือก็ขายได้กว่า ๕๐๐,๐๐๐ เล่มใน ค.ศ. ๑๙๓๖ ๖๘๐,๐๐๐ เล่ม ใน ค.ศ. ๑๙๓๘ และ ๘๕๐,๐๐๐ เล่ม ใน ค.ศ. ๑๙๔๐ งานเขียนของโรเซนแบร์กอีกเล่มหนึ่งชื่อ The Swamp มีเนื้อหาต่อต้านพวกรักร่วมเพศเพราะพฤติกรรมรักร่วมเพศเป็นอุปสรรคต่อการเพิ่มจำนวนประชากรของชนเชื้อสายนอร์ดิก หนังสือเล่มนี้จึงมีส่วนทำให้เกิดการเคลื่อนไหวต่อต้านพวกรักร่วมเพศในพรรคนาซีและถูกใช้เป็นข้ออ้างของฝ่ายแกนนำพรรคนาซีในการกำจัดแอนสท์ เริมและลดบทบาทของหน่วยเอสเอในเวลาต่อมา

 ใน ค.ศ. ๑๙๓๓ โรเซนแบร์กได้รับแต่งตั้งเป็นหัวหน้าฝ่ายต่างประเทศของพรรคนาซี แต่การปฏิบัติหน้าที่ของเขาไม่ประสบความสำเร็จเท่าใดนัก เขาได้เดินทางไปเยือนอังกฤษโดยมีเป้าหมายสำคัญเพื่อสร้างสัมพันธไมตรีอันดีกับอังกฤษเพื่อให้อังกฤษมั่นใจว่านาซีจะไม่เป็นภัยคุกคามต่ออังกฤษแต่ความพยายามของเขาไม่ประสบความสำเร็จ เมื่อเขาวางพวงมาลาที่มีเครื่องหมายสวัสติกะหน้าหลุมฝังศพทหารนิรนามชาวอังกฤษ ทหารผ่านศึกอังกฤษก็ได้โยนพวงมาลานั้นทิ้งลงแม่น้ำเทมส์ในเวลาต่อมา อย่างไรก็ตาม ใน ค.ศ.๑๙๓๙ โรเซนแบร์กสามารถโน้มน้าวให้วิดคุน ควิสลิง (Vidkun Quisling)* ผู้นำพรรคฟาสซิสต์นอร์เวย์เดินทางมาเยือนเยอรมนีซึ่งนำไปสู่การวางแผนบุกนอร์เวย์ในเวลาต่อมา

 ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๒ ใน ค.ศ. ๑๙๔๐ โรเซนแบร์กได้รับแต่งตั้งเป็นหัวหน้าศูนย์วิจัยการศึกษาและปรัชญาสังคมนิยมแห่งชาติ (Centre of National Socialist Ideological and Educational Research) เขาได้จัดตั้งหน่วยเฉพาะกิจด้านดนตรี (Sonderstab Musik) ขึ้นเพื่อรวบรวมเครื่องดนตรีที่ดีที่สุดรวมทั้งโน้ตเพลงเพื่อนำไปใช้ในมหาวิทยาลัยที่จะก่อตั้งขึ้นที่เมืองลินซ์ (Linz) ในออสเตรียซึ่งเป็นภูมิลำเนาเดิมของฮิตเลอร์ หน่วยงานนี้มีส่วนสำคัญในการให้ทุนสนับสนุนการทำวิจัยด้านดนตรีชาติพันธุ์ และสนับสนุนให้พวกนักวิชาการเหล่านี้เข้าร่วมกิจกรรมกับพรรคนาซีด้วย นอกจากนี้โรเซนแบร์กยังมีบทบาทสำคัญในการสั่งให้หน่วยงานพิเศษที่เรียกว่ากองกำลังปฏิบัติการโรเซนแบร์ก (Rosenberg Task Force) จัดการทำลายหรือยึดทรัพย์สินทุกประเภทของชาวยิวในฝรั่งเศส เบลเยียม และเนเธอร์แลนด์ และดำเนินการลักลอบและขนย้ายศิลปวัตถุจากประเทศที่เยอรมนียึดครองกลับมาเยอรมนี

 เมื่อเยอรมนีสามารถยึดครองดินแดนยุโรปตะวันออกได้ โรเซนแบร์กได้รับแต่งตั้งเป็นหัวหน้าควบคุมดูแลพื้นที่ดังกล่าวโดยมีอัลเฟรด ไมเออร์ (Alfred Meyer) เป็นผู้ช่วยเขาพยายามกระตุ้นความคิดชาตินิยมของชาวยุโรปตะวันออกที่ไม่ใช่เชื้อชาติรัสเซียและขณะเดียวกันก็เผยแพร่ความยิ่งใหญ่ของเชื้อชาติอารยัน เขาสนับสนุนการจัดตั้งยุโรปตะวันออกให้เป็นเขตการปกครองใหม่ของเยอรมนีเพื่อทำลายอิทธิพลของสหภาพโซเวียตและเป็นรัฐกันชนสกัดกั้นการรุกรานของโซเวียตด้วย เขาเสนอการแบ่งยุโรปตะวันออกเป็น ๔ เขตด้วยกัน คือ เขตตะวันออก (Ostland) มีประเทศชายฝั่งทะเลบอลติกและเบลารุส เขตยูเครน (Ukraine) มียูเครนและดินแดนใกล้เคียง เขตคอเคซัส (Kaukasus) มีดินแดนแถบคอเคเซีย (Caucasia) และเขตมอสโก (Moscow) มีเมืองมอสโกและพื้นที่ของรัสเซียที่ติดต่อกับยุโรป แต่นโยบายการแบ่งเขตปกครองยุโรปตะวันออกได้นำไปสู่ความขัดแย้งระหว่างโรเซนแบร์กกับไรน์ฮาร์ด ไฮดริช (Reinhard Heydrich)* ผู้นำหน่วยเอสเอส (SS)* โดยเฉพาะแนวทางการปฏิบัติต่อชาวสลาฟ โรเซนแบร์ก เห็นว่าชาวสลาฟในยุโรปตะวันออกควรนับเป็นเชื้อชาติอารยันด้วยถึงแม้จะไม่ได้ยิ่งใหญ่เหมือนกับชาวเยอรมัน เขาต้องการให้ชาวสลาฟมีส่วนร่วมในการปกครองและเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิไรค์ที่ ๓ (Third Reich)* ภายใต้การนำของเยอรมนี แต่ไรน์ฮารีดและผู้นำกองทัพไม่เห็นด้วยพวกเขามักใช้แรงงานและแสวงหาประโยชน์จากชาวสลาฟอย่างเต็มที่ โรเซนแบร์กรายงานเรื่องที่กองทัพปฏิบัติต่อชาวสลาฟอย่างเลวร้ายให้ฮิตเลอร์และไฮน์ริช ฮิมม์เลอร์ (Heinrich Himmler)* รองหัวหน้าพรรคนาซีทราบ แต่บุคคลทั้งสองก็ไม่ใส่ใจเท่าใดนัก

 ใน ค.ศ. ๑๙๔๑ เมื่อเยอรมนีบุกสหภาพโซเรียต โรเซนแบร์กเป็นหนึ่งในเจ้าหน้าที่ระดับสูงไม่กี่คนที่สนับสนุนนโยบายการกระตุ้นให้ชาวรัสเซียที่ต่อต้านคอมมิวนิสต์ออกมาเคลื่อนไหวสนับสนุนกองทัพเยอรมัน โรเซนแบร์กให้ประชาสัมพันธ์นโยบายการยกเลิกระบบนารวมของรัฐบาลโซเวียตด้วยการออกกฎหมายเกษตรกรรมในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๙๔๒ ล้มเลิกกฎหมายการทำนารวมของรัสเซียทั้งหมดและคืนสิทธิในการถือครองที่ดินให้แก่ผู้ที่ร่วมมือกับกองทัพนาซี แต่นโยบายการคืนสิทธิในที่ดินของเขาก็ขัดแย้งกับความต้องการผลิตผลทางการเกษตรอย่างมากของเยอรมนีในช่วงสงคราม แฮร์มันน์ เกอริง (Hermann Göring)* จอมพลแห่งจักรวรรดิไรค์จึงมีคำสั่งให้ยกเลิกกฎหมายของโรเซนแบร์กฮิตเลอร์เองไม่เห็นด้วยกับเรื่องการคืนกรรมสิทธิ์ในที่ดินปัญหาดังกล่าวมีส่วนทำให้โรเซนแบร์กถูกลดบทบาทในพรรคนาซีลง

 หลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ ยุติลงใน ค.ศ. ๑๙๔๕ โดยเยอรมนีเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ กองทัพพันธมิตรสามารถจับกุมตัวโรเซนแบร์กได้ เขาถูกนำตัวขึ้นพิจารณาคดีที่เมืองนูเรมเบิร์กและถูกตัดสินประหารชีวิตด้วยความผิด ๔ กระทง คือ คบคิดวางแผนก่ออาชญากรรมตามที่ศาลอื่น ๆ ได้ตัดสินแล้ววางแผนและก่อสงคราม ก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติด้วยการปกปิดการเข่นฆ่าทางเชื้อชาติ และเป็นอาชญากรสงครามโรเซนแบร์กถูกแขวนคอพร้อมกับแกนนำนาซีอีกหลายคนในเช้าวันที่ ๑๖ ตุลาคม ค.ศ. ๑๙๔๖ ที่เมืองนูเรมเบิร์ก ขณะอายุ ๕๓ ปี เขาปฏิเสธที่จะพูดและแสดงความคิดเห็นใด ๆ ก่อนที่จะถูกประหารชีวิตในเวลาต่อมามีการนำงานเขียนและสุนทรพจน์ของโรเซนแบร์กระหว่าง ค.ศ. ๑๙๓๔-๑๙๔๑ รวมพิมพ์เป็นเล่มชื่อ Blood and Honour.



คำตั้ง
Rosenberg, Alfred
คำเทียบ
นายอัลเฟรด โรเซนแบร์ก
คำสำคัญ
- กองกำลังปฏิบัติการโรเซนแบร์ก
- การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์
- การปฏิวัติเดือนตุลาคม
- การปฏิวัติรัสเซีย
- การพิจารณาคดีนูเรมเบิร์ก
- เกอริง, แฮร์มันน์
- ชตราสเซอร์, เกรกอร์
- บอร์มันน์, มาร์ติน
- บอลเชวิค
- เบลารุส
- ฝ่ายรัสเซียขาว
- พรรคนาซี
- พรรคบอลเชวิค
- พรรคฟาสซิสต์
- พรรคแรงงาน
- พรรคแรงงานสังคมนิยมแห่งชาติ
- พรรคสังคมนิยม
- ไมเออร์, อัลเฟรด
- ยูเครน
- ระบบนารวม
- เริม, แอนสท์
- โรเซนแบร์ก, อัลเฟรด
- สแกนดิเนเวีย
- สงครามกลางเมืองรัสเซีย
- สงครามโลกครั้งที่ ๑
- สงครามโลกครั้งที่ ๒
- สภาไรค์ชตาก
- สมาคมลับฟรีเมสัน
- สันนิบาตต่อสู้เพื่อปกป้องวัฒนธรรมเยอรมัน
- เอสโตเนีย
- เอสเอ
- เอสเอส
- ฮิตเลอร์, อดอล์ฟ
- ฮิมม์เลอร์, ไฮน์ริช
- ไฮดริช, ไรน์ฮาร์ด
ช่วงเวลาระบุเป็นคริสต์ศักราช
1893-1946
ช่วงเวลาระบุเป็นพุทธศักราช
พ.ศ. ๒๔๓๖-๒๔๘๙
มัลติมีเดียประกอบ
-
ผู้เขียนคำอธิบาย
สุธีรา อภิญญาเวศพร
บรรณานุกรมคำตั้ง
แหล่งอ้างอิง
-